หลักการใช้ภาษา
การใช้ภาษาที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องสามารถสื่อสารให้บรรลุวัตถุประสงค์และสร้างความประทับใจแก่ผู้รับสาร ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งคือการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับการสื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารควรศึกษาและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประเภทของภาษา ความหมายของคำและประเภทของประโยค
หลักการใช้ภาษา ประกอบด้วย
- ภาษา หมายถึง วิธีที่มนุษย์ใช้แสดงความรู้สึกและสื่อความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจ ภาษาจำแนกตามวิธีการแสดงออกได้ ๒ ประเภท คือ
- วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำ เสียงพูดหรือเครื่องหมายแทนเสียงพูดที่มนุษย์ตกลงใช้ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ
- อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่การพูดเป็นถ้อยคำ หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสิ่งที่สามารถสื่อให้เกิดความหมาย ความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจตรงกัน เช่น ภาษาท่าทาง ภาษาใบ้ ภาษากาย มี ๗ ประเภท คือ
- เทศภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากระยะห่างระหว่างบุคคลและสถานที่ที่ใช้ในการสื่อสารกัน เช่น การโน้มตัวเดินผ่านผู้ใหญ่ให้ห่างมากที่สุดเพื่อแสดงความมีสัมมาคารวะ
- กาลภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากช่วงเวลาในการสื่อสาร เช่น นักศึกษาเข้าเรียนตรงเวลา แสดงถึงความตั้งใจ เอาใจใส่ และให้เกียรติผู้สอน
- เนตรภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากสายตา เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก เช่น การหลบสายตา เพราะกลัว หรือเขินอาย หรือมีความผิดไม่กล้าสู้หน้า
- สัมผัสภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากการสัมผัส เช่น การโอบกอด การจับมือ
- อาการภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้จากการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การไหว้ การยิ้ม การเม้มปาก การนั่งไขว่ห้าง การยืนเคารพธงชาติ
- วัตถุภาษา อวันภาษาที่รับรู้จากการเลือกใช้วัตถุเพื่อสื่อความหมาย เช่น เครื่องประดับ การแต่งบ้าน การมอบดอกไม้ การ์ดอวยพร
- ปริภาษา อวัจนภาษาที่รับรู้ได้จากการใช้น้ำเสียงแสดงออกพร้อมกับถ้อยคำนั้น ทำให้สามารถเข้าใจความหมายของถ้อยคำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยเน้นให้เห็นถึงเจตนา หรือลักษณะของผู้ส่งสารว่าพอใจ โกรธ ฯลฯ เช่น ความเร็ว จังหวะ การเน้นเสียง ลากเสียง ความดัง ความทุ้มแหลม ในกรณีของภาษาเขียนอวัจนภาษาที่ปรากฏได้แก่ ลายมือ การเว้นวรรคตอน การย่อหน้า ขนาดตัวอักษร ฯลฯ การสื่อสารแต่ละครั้งย่อมใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษาควบคู่กันไป ซึ่งอวัจนภาษาที่ใช้สัมพันธ์กับวัจนภาษาใน ๕ ลักษณะด้วยกัน คือ
- ตรงกัน อวัจนภาษามีความหมายตรงกับถ้อยคำ เช่น การส่ายหน้าปฏิเสธพร้อมพูดว่า “ไม่ใช่”
- แย้งกัน อวัจนภาษาที่ใช้ขัดแย้งกับถ้อยคำ เช่น การกล่าวชมว่า วันนี้แต่งตัวสวย แต่สายตามองที่อื่น
- แทนกัน อวัจนภาษาทำหน้าที่แทนวัจนภาษา เช่น การกวักมือแทนการเรียก การปรบมือแทนการกล่าวชม
- เสริมกัน อวัจนภาษาที่ช่วยเพิ่มหรือเสริมน้ำหนักของถ้อยคำเช่นเด็กบอกว่ารักแม่เท่าฟ้าพร้อมกับกางแขนออก
- เน้นกัน อวัจนภาษาช่วยเน้นหรือเพิ่มน้ำหนักให้ถ้อยคำ เช่น การบังคับเสียงให้ดังหรือค่อยกว่าปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น